กรมควบคุมมลพิษชี้ "กรุงเทพฯ" มีสารก่อมะเร็งในอากาศเกินมาตรฐาน
งานวิจัยนี้ทำโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งจะนำข้อมูลตัวอย่างค่าฝุ่นละอองในอากาศ ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ของกรมควบคุมมลพิษ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานีในกรุงเทพ ได้แก่ การเคหะชุมชนดินแดง สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 การไฟฟ้าย่อยธนบุรี โรงเรียนบดินทรเดชา โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม การเคหะชุมชนคลองจั่น และโรงเรียนนนทรีวิทยา โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2549 -2552 มาวิเคราะห์หาสารก่อมะเร็ง PAH ซึ่งเป็นกลุ่มของสารเคมีกลุ่มหนึ่งที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็งกว่า 100 ชนิดหลักๆ แต่สำนักป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S.EPA) กำหนดให้เหลือ 16 ตัวที่มีอันตราย โดยจะต้องไม่เกิน 1,000 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนของอังกฤษกำหนดว่า ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 250 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ผลการวิเคราะห์ทั้ง 7 สถานีในกรุงเทพพบว่า การเคหะชุมชนดินแดง มีสารก่อมะเร็ง 990 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานของอังกฤษถึง 2.2 เท่า รองลงมาคือสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 มีสารก่อมะเร็ง 704 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร การไฟฟ้าย่อยธนบุรี 630 โรงเรียนบดินทรเดชา 589 โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม 517 การเคหะชุมชนคลองจั่น 395 และโรงเรียนนทรีวิทยา 292
จะเห็นได้สถานีที่อยู่ริมถนนอย่างดินแดง สถานีตำรวจโชคชัย 4 การไฟฟ้าย่อยธนบุรี จะมีค่ามากกว่าแหล่งชุมชน 2-3 เท่า ก่อนการวิจัยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในรอบ 4 ปี สารก่อมะเร็งน่าจะลดลง เพราะคนเปลี่ยนมาใช้แก๊ซโซฮอลล์มากขึ้น แต่การวิเคราะห์กลับพบว่า ตัวเลขใกล้เคียงกัน ไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน ทำให้สรุปได้ว่า แม้คนจะใช้แก๊ซโซฮอลล์มากขึ้น แต่จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้สารก่อมะเร็งลดลง ซึ่งสารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง สำหรับกรณีของกรุงเทพมหานครนั้น เกิดจากควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์เป็นหลัก แต่เมืองอื่นอาจเกิดจากไฟป่า และโรงงานอุตสาหกรรม
ก่อนหน้าการวิจัยครั้งนี้ เคยมีการวิจัยโดยหาสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม PAH ที่มีอันตรายมากที่สุด พบว่า กรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 13 ของเอเชีย มีค่า 554 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ของอังกฤษ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานของสหรัฐ โดยอันดับต้นๆ เป็นเมืองต่างๆในจีน อินเดีย ตุรกี ไต้หวัน และเกาหลี ทวีปเอเชีย เป็นทวีปที่มีสารก่อมะเร็งในอากาศเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา
ที่มา : Thai PBS
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น