ศึกษาดูงานนอกพื้นที่

เสียงเพรียกจากพงไพร

ภูมิศาสตร์มหาสารคาม ขอเป็นหนึ่งเสียงในการอนุรักษ์ทรัพยากรของโลกให้คงอยู่ต่อไป

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จับตา! ดาวหาง2013 วันสิ้นโลกมาอีกแล้ว

เมื่อโลกส่งท้ายปีเก่าที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปีใหม่ 2556 เตรียมเผชิญกับปรากฎการณ์ธรรมชาติมาเยือนโลก ดีหรือ หายนะ มาร่วมพิสูจน์กัน !!!


           เริ่มต้นวันใหม่ในปีใหม่ 2013 หลายคนเชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นสิ่งดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทั้งยังพ้นการทำนายของปฎิทินชาวมายันว่า "วันสิ้นโลก" คือวันที่ 21 ธ.ค ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีเหตุการณ์ใดที่คล้ายจะเป็นจุดจบของโลกเลย นอกจากนี้สมาคมดาราศาสตร์ของไทยเรา ยังออกมาเปิดเผยกับสื่อว่า ในปี 2556 หรือ 2013 นี้จะเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ คือ จะเกิดฝนดาวตก (meteor shower) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหาง หรือ ดาวเคราะห์น้อย เคลื่อนตัวเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งมนุษย์เราจะสามารถสังเกตได้จากสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก และไม่มีแสงจันทร์ หรือ ไฟฟ้าส่องถึง เราจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเฉลี่ยราวๆ 6 ดวง ต่อ ชั่วโมงกันเลยทีเดียว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกวัน และเวลาที่แน่นอนได้ว่าฝนดาวตกนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด

       มากไปกว่านั้น สมาคมดังกล่าวยังออกมาเชิญชวนประชาชนทั่วโลก เตรียมตัวสังเกตดาวหางสว่างในปี 2556 ซึ่งจะเกิดขึ้นถึง 2 ดวง คือ ดาวหางแพนสตาร์ส (PANSTARRS) และ ดาวหางไอซอน (ISON) นักดาราสาสตร์ยังกล่าวต่อว่า แม้ว่าแนวโน้มที่บ่งบอกว่าดาวหางทั้งสองจะสว่างจนสามารถเห็นด้วยตาเปล่านั้น แต่เขาไม่สามารถยืนยันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เนื่องจากอาจจะเกิดการแตกสลายเป็นสะเก็ดดาวชิ้นเล็กๆ หรือมีอัตราการระเหิดของน้ำแข็งน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จึงมีโอกาสที่ดางหางทั้งสองจะมีความสว่างน้อยลง
       นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าดาวหางแพนสตาร์ส (PANSTARRS) จะเริ่มปรากฎตัวบนท้องฟ้าช่วงเวลาหัวค่ำ ในวันที่ 9-17 มีนาคม 2556 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่สังเกตดาวหางดวงนี้ได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เนื่องจากคาดว่าจะเป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด แต่การพยากรณ์ความสว่างของดาวหางมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้เสมอ ส่วนดาวหางดวงที่ 2 ชื่อว่า ดาวหางไอซอน (ISON) เป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งจะปรากฏในช่วงฤดูหนาวในปี 2556 การค้นพบดาวหางดวงนี้สร้างความตื่นเต้นในแวดวงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือ ซึ่งไม่มีโอกาสเห็นดาวหางสว่างมานานหลายปี และคาดว่าขณะที่ดาวหางสว่างที่สุด จะอยู่ในช่วงวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 และอาจจะยังมองเห็นอยู่ช่วงต้นเดือนมกราคมของปี 2557 อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดกล้ายืนยันว่าความสว่างของดาวหางทั้ง 2 จะสามารถมองเห็นด้วยตาหรือไม่ จึงไม่อยากให้ประชาชนพากันตั้งความหวังให้สูงนัก
        ขณะที่เรากำลังชื่นชมกับการรับรู้ข่าวสารจากดวงดาวมากมายที่จะมาเยี่ยมเยือนโลกอยู่นั้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช และองค์การนาซา เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ดาวเคราะห์เตรียมพุ่งชนโลกในวันที่ 13 หรือ 15 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ยังไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นยากมาก หากส่งจรวจขึ้นไปยิงจะทำให้เกิดการแตกกระจาย และพุ่งชนโลกมากขึ้นอาจส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตไม่น้อย และอีกแนวทางหนึ่งคือต้องปล่อยให้พุ่งเข้ามาชนโลก แต่การชนนั้นก็เท่ากับการวัดดวงว่า ดาวเคราะห์ลูกนี้จะไปตกในจุดใด ถ้าตกลงมหาสมุทร ก็จะเกิดคลื่นสึนามิ ถ้าตกลงกลางเมืองใหญ่ จะฆ่าชีวิตผู้คนนับล้าน ซึ่งก็มีหายนะเท่าๆกัน ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังรอการสำรวจจากองค์การนาซ่า และพร้อมพิสูจน์ว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่
         เหลือเวลานับถอยหลังไม่เพียงกี่วัน เราก็จะได้รู้ความจริงกันแล้วว่าข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเป็นความจริง หรือ แค่ข่าวลือเท่านั้น! หรืออาจจะเกี่ยวพันไปถึงคำทำนายของชาวมายันว่าจะถึงจุดสิ้นสุดของโลก ซึ่งนับวันเหตุการณ์บ้านเมืองของเราก็วุ่นวายมากขึ้น ทั้งยังล้างเผ่าพันธ์มนุษย์ไปทีละน้อย คุณจะเชื่ออย่างงมงายหรือพิจารณากันอย่างไรก็ตามแต่ แต่ฉันคนหนึ่งจะร่วมนับถอยหลังนับจากนี้ เพื่อพิสูจน์ความจริงกับหายนะที่อาจจะเกิดขึ้น!!!
โดย ประกายพร วงศ์วุฒิ โต๊ะข่าวต่างประเทศ INN

ที่มา : http://news.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น